วิทยานิพนธ์ ทำวิจัย

สาระสำคัญของวิทยานิพนธ์/ ดุษฎีนิพนธ์มีอะไรบ้าง

         1.บทนำ (Introduction) เป็นส่วนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ สมมติฐาน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย  ขอบเขตของการวิจัย  ข้อจำกัดการวิจัยและนิยามศัพท์เฉพาะ โดยมีแนวทางดังนี้

             1.1  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (Statements and Significance of the Problems) กล่าวถึงที่มาของเรื่องที่จะต้องศึกษา เนื่องมาจากสาเหตุอะไรเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยในเรื่องนี้

             1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives) หมายถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่าต้องการค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดบ้าง ควรระบุเป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน และจัดลำดับความสำคัญ

             1.3 สมมติฐานของการวิจัย  (Hypotheses) จะเขียนในส่วนนี้  ในกรณีที่ งานวิจัยนั้นมีสมมติฐาน เป็นการตอบคำถามล่วงหน้าจากวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ได้ตั้งไว้ โดยการอ้างอิงหลักการ  ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ได้ศึกษามาก่อน  การตอบคำถามล่วงหน้านี้จะช่วยให้ผู้ทำวิจัยมีแนวทางในการปฏิบัติงานได้ดีและสามารถออกแบบได้อย่างเหมาะสม

             1.4 กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)  การประมวลความคิดรวบยอดของงานวิจัยที่แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรที่ศึกษา ดังนั้นหลักสำคัญในการเขียนกรอบแนวคิด คือ จะต้องอิงแนวคิด หลักการหรือทฤษฎีที่นำมาใช้เป็นกรอบการทำวิจัย และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษา พิจารณาได้จากเนื้อหาของตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ใช้ควบคุม และตัวแปรตาม ความสอดคล้องกัน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้วิจัย

             1.5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย (Contribution to Knowledge) เป็นการบอกให้ทราบว่าความรู้ที่ได้จากการวิจัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง อาจจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญในการปฏิบัติงาน หรือสร้างองค์ความรู้ในสาขาวิชาที่วิจัย

             1.6 ขอบเขตของการวิจัย (Scope of Study) เป็นการระบุว่าการวิจัยนั้นจะ ครอบคลุมเนื้อหาอะไร ประชากรที่ต้องการอ้างอิงผลการวิจัย ระยะเวลาการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัวแปรที่วิจัย

             1.7 นิยามศัพท์เฉพาะ (Definition of Terms) หมายถึง  การกำหนดความหมายคำในเชิงปฏิบัติการ (Operational Definitions) ที่ใช้ในการวิจัย

         2.เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature Reviews) เนื้อหาส่วนนี้จะให้ข้อมูลที่เป็นทฤษฎีแนวคิด หรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ทำวิจัยและกล่าวถึงงานวิจัยที่เคยมีผู้ทำไว้เพื่อสนับสนุนการวิจัย

         3.วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methodology, Research Methods, Methods หรือ Materials and Methods) เนื้อหาส่วนนี้อธิบายวิธีดำเนินการวิจัยอย่างละเอียดตั้งแต่ วิธีที่ใช้ศึกษา  ลักษณะประชากร การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเลือกเครื่องมือและวิธีการ ความถูกต้องและเชื่อถือได้ของเครื่องมือ  วิธีการรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล

         4.ผลการวิจัย (Results) เป็นการรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดโดยละเอียด อาจนำเสนอด้วยการบรรยายหรือนำเสนอในรูปตาราง กราฟ ภาพ เพื่อให้การตีความหมายข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น

         5. อภิปรายและสรุปผล (Discussion and Conclusion) หรือสรุปและอภิปรายผล (Conclusion and Discussion) การอภิปรายผลในส่วนนี้ผู้วิจัยจะต้องนำประเด็นสำคัญของผลการศึกษามาอภิปรายว่าผลที่ค้นพบ สนับสนุนหรือ ขัดแย้งกับทฤษฎีหรือตรงกับการศึกษาของผู้อื่นหรือไม่อย่างไร  หรือที่ได้กล่าวไว้ในวรรณกรรมประการใด โดยอ้างอิงทฤษฎี แนวคิดและผลการวิจัยของผู้อื่น หรือข้อมูลประกอบเพื่อยืนยันผลที่ได้รับจากการวิจัยของผู้วิจัย มีการค้นพบใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ เมื่ออภิปรายผลจบแล้ว ให้ผู้วิจัยสรุปผลการวิจัยเฉพาะประเด็นสำคัญในวิทยานิพนธ์/ ดุษฎีนิพนธ์ทั้งหมด เป็นการเรียบเรียงความให้เห็นการดำเนินการวิจัยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน  มิใช่เป็นการคัดลอกความจากบทต้น ๆ มาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นผู้วิจัยต้องเสนอแนะเกี่ยวกับการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งเสนอแนะ เกี่ยวกับการวิจัยในขั้นต่อไป

ติดต่อปรึกษากับเรา ได้ที่ 096-896-8587  / https://bit.ly/2WO7oAvhttps://web.facebook.com/iamthesis/